Hot Topic!
ความหวังในปี 2562
โดย ACT โพสเมื่อ Jan 09,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้หลายท่านอาจจะยัง พักผ่อนในวันหยุดอยู่ แต่หลายท่านกำลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวเพื่อเริ่มงานต่อในปีใหม่นี้ ก็ขอให้ทุกท่าน พักผ่อนให้เต็มที่และเดินทางอย่างมีสติ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างมีความสุขและปลอดภัยนะครับ
ปีที่ผ่านมาเราได้พบเจอเรื่องราวการคอร์รัปชันทั้งที่สร้างความหวังและความสิ้นหวังให้กับสังคมหลายกรณี ผมจึงจะขอทบทวนเรื่องราวเด่นๆ ที่สร้างผลกระทบกับสังคมไทยในรอบปีที่ผ่านมานะครับ
ปี 2561 เปิดมาด้วยเรื่องราวการทุจริตในภาครัฐที่กลับสร้างความหวังให้กับสังคมอย่างมาก นั่นคือกรณีเปิดโปงโกงเงินคนจน โดย น้องแบมและน้องเกม หรือ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล สองนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้าฝึกงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น แล้วพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อยักยอกเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งโดยผู้อำนวยการและ เจ้าหน้าที่ศูนย์ จึงได้ร่วมกันเปิดโปงกระบวนการทุจริตดังกล่าวด้วยความกล้าหาญ จนนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบทั้งในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ รวม 37 ศูนย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงบประมาณนับพันล้านบาท
เหตุการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เนื่องจากผู้ที่ออกมาเปิดโปง ไม่ใช่คนดังมีชื่อเสียง แต่เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยสองคน แต่ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มประชาสังคมที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่าง ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และความสนใจของประชาชนจำนวนมากที่ทำให้เสียงเบาๆ ของนิสิตทั้งสองคนกลายเป็นเสียงที่ดัง สั่นสะเทือนไปถึงนายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เป็นตัวอย่างให้คนไทยคนอื่นๆ ได้เห็นว่าต่อจากนี้ เรามีวิธีขยายเสียงเพื่อดึงอำนาจกลับมาสู่ประชาชนแล้ว
หลังจากกรณีเปิดโปงเงินคนจนไม่นานในช่วงเดือนมีนาคม ก็มีการเปิดเผยเรื่องการทุจริตที่น่าสลดอย่างมาก คือการยักยอกเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เพื่อช่วยเหลือ กลุ่มเด็กตกเขียว หรือ เด็กหญิงในภาคเหนือที่ยากจน เสี่ยงต่อการล่อลวงไปค้าประเวณี ให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อระดับวิชาชีพ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบความผิดปกติ ในการโอนเงินกองทุน จนตรวจสอบพบว่า นางรจนา สินที ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการยักยอกเงินมาตลอดหลายปีเป็นเงินเกือบร้อยล้านบาท
ที่กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าสลดอย่างมาก ก็เพราะการทุจริตนี้ ไม่ใช่เพียงเป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปเท่านั้น แต่ส่งผลต่อชีวิตของเยาวชนไทยอย่างรุนแรง มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับทุน ต้องกู้หนี้นอกระบบมาจ่ายค่าเล่าเรียน ทำให้สถานการณ์ครอบครัวยากลำบากมากกว่าเดิม และเด็กบางคน ต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป สะท้อนความไร้คุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรมของคนโกงอย่างชัดเจน
หลังจากเรื่องนี้จบไปไม่นาน ก็มีการเปิดโปงเรื่องการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนอีก ครั้งนี้เกี่ยวกับสุขภาวะของเด็ก คือการทุจริตอาหารกลางวันโรงเรียน โดยเรื่องนี้เริ่มจากกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่รวมตัวกันประท้วงผู้บริหารโรงเรียน ว่าให้นักเรียนกินขนมจีนราดน้ำปลาเป็นอาหารกลางวัน ทั้งๆ ที่ได้รับงบประมาณเพียงพอ เมื่อปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน สำนักข่าวอิศรา และเพจต้องแฉรับทราบข่าวนี้ จึงได้ไปสืบหาข้อมูลและได้พบว่ามีโรงเรียนอื่นอีกหลายแห่งที่ทำเช่นเดียวกันนี้ นำไปสู่การสอบสวนของ ป.ป.ช. และชี้มูลความผิดผู้บริหารโรงเรียน 7 แห่งใน ฐานทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน และบางกรณียังทุจริตนมโรงเรียนด้วย
กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าความโลภของคนโกงเหล่านี้ สามารถบดบังจิตสำนึกที่เคยได้รับการปลูกฝังมาเป็นเวลานานได้ เพราะคนโกงเหล่านี้ล้วนเป็นครูทั้งสิ้น ผ่านการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีอย่างเข้มข้นเพื่อให้ไปอบรมลูกศิษย์ให้เป็นคนดี ยังสามารถโกงและเอาเปรียบนักเรียนของตัวเองที่เห็นอยู่ทุกวันได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการระดมพลังของประชาชนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมนั้น เมื่อได้รับการสนับสนุนจากสื่อสาธารณะแล้ว สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง
เรื่องราวทั้งสามนี้ แม้จะแสดงภาพความสิ้นหวังของสังคมที่ความโลภของทำให้คนสามารถเพิกเฉยกับความทุกข์ยากของผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตนได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงความหวังว่าสังคมไทยยังมีกลุ่มภาคประชาสังคมและสื่อสาธารณะที่สนับสนุนให้เสียงเบาๆ ของประชาชนทั่วไปกลายเป็นเสียงที่ดังจนผู้มีอำนาจต้องตื่นตัวมาแก้ไขปัญหาได้จริง และแสดงความกล้าหาญของคนจำนวนหนึ่งที่ออกมาเปิดโปงความจริงสู่สังคม ทำให้เห็นว่าเสียงของประชาชนยังมีความหมายอยู่จริง
เหมือนจะสิ้นปีไปด้วยเรื่องเท่านี้ แต่เพียง 3 วันก่อนสิ้นปีก็มีข่าวที่สร้างความสิ้นหวังให้กับสังคมไทยเรื่องหนึ่งคือเรื่อง ป.ป.ช. ประกาศผลตัดสินตีตกปมนาฬิกาหรูไป โดย ไม่ได้อธิบายหลายข้อสงสัยที่สังคมมีอยู่ สร้างวิกฤติศรัทธากับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งนี้มาก
อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดดีๆ กรณีนี้อาจจะไม่ใช่ "ความสิ้นหวัง" แต่คือ "ความหวัง" เพราะจริงๆ ข้าราชการ นักการเมือง ผู้มี อำนาจรัฐที่ผ่านมาตั้งแต่โบราณหลายคนก็มีเรื่องเกี่ยวข้องกับการ รับสินบนหรือรับทรัพย์สินมาโดยมิชอบ แต่ที่เราไม่โกรธไม่สิ้นหวังแบบนี้ ก็เพราะเรา "ไม่รู้" วันนี้ที่เราไม่พอใจ เพราะว่าเรา "รู้แล้ว" จากการ ระดมข้อมูลและความรู้จากมวลชนหรือที่เรียกว่า "crowdsourcing" จากรูปถ่ายรูปเดียว มีคนช่วยกันสืบสาวและตรวจสอบจน "รู้จริง" ว่ามีนาฬิกาหรูถึง 22 เรือน และเรา "ทำได้" ด้วยการแสดงความไม่พอใจ ความผิดหวังผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ
นี่จึงนำมาสู่งานต่อต้านคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ที่จะต้องขยายผลของความหวังที่เกิดจากบทเรียนของเหตุการณ์ในปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของกลุ่มประชาสังคมและสื่อสาธารณะที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน การอำนวยความสะดวกให้กับผู้เห็นเหตุการณ์ทุจริตในการร้องเรียนอย่างปลอดภัย การสนับสนุนการระดมข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบ จากการคอร์รัปชัน และการสร้างความร่วมมือให้กับหน่วยงาน ที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยเพื่อให้เข้มแข็งกว่าเครือข่ายของคนโกง
ในปีนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับหลากหลายองค์กรเครือข่ายมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันในแต่ละภาคส่วน เช่น ภาคการศึกษา ภาคการเงินการธนาคาร ภาคการท่องเที่ยว ฯลฯ และมีการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านการวิจัยอย่าง SIAM lab ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสภาวิจัยแห่งชาติ ที่จะพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการระดมข้อมูลจากประชาชนเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม โดยถอดบทเรียนจากโครงการต้องแฉ และโครงการสังคมดี๊ดีสองนาทีง่ายๆ ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงแล้วในปีก่อน นอกจากนี้โครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้วก็จะมีการดำเนินการต่อเนื่องและขยายผลต่อไป เพื่อมุ่งเป้าหมายให้เสียงของประชาชนมีความหมายและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นี่คือความหวังของไทยในปีนี้ครับ
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน